ประวัติ วัดสุทธจินดา

ประวัติ วัดสุทธจินดา

     วัด สุทธจินดา  ตั้งอยู่ ณ  บ้านเลขที่  ๗๗๔  ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา  ๓๐๐๐๐  อยู่ใจกลางเมือง  มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้การอุปถัมภ์วัดสุทธจินดา  อีกทั้งมีประชากร  หน่วย  งาน  วัด  สถานที่สำคัญจำนวนมากและมีความเจริญในด้านวัฒนธรรม  เป็นวัดที่ง่ายต่อการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล และมีประวัติวัดที่เก่าแก่ น่าศึกษาประวัติและความเป็นมาของชุมชน   ที่ตั้งวัดสุทธจินดามีเนื้อที่  ๒๔  ไร่  ๓  งาน  ๙  ตารางวา  ปัจจุบันจัดสร้างกำแพงคอนกรีตกำหนดเขตเป็นบริเวณวัดไว้ทั้ง  ๔  ด้าน ดังนี้
                         ด้านทิศตะวันออก  กำแพงยาวยาวตามแนวถนนราชดำเนิน  ๒๗๘.๘๐  เมตร
                         อาณาเขตทิศเหนือยาว  ๑๕๙  เมตร
                         อาณาเขตทิศใต้ยาว  ๑๔๗  เมตร
                         อาณาเขตทิศตะวันตกยาว  ๒๘๒  เมตร
                         และปัจจุบันนี้ได้สร้างเสนาสนะเพิ่มขึ้นมาใหม่  เพราะในอดีตเป็นกุฏิไม้หลังเก่าได้รื้อของเก่าออกแล้วทำใหม่สร้างเป็นกุฏิ อิฐปูนซีเมนต์คอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น   เช่น   กุฏิบูรคามบริรักษ์   กุฏิกองทัพบก   กุฏิธนาคารกรุงเทพฯ  กุฏิขุนบรรจง  กุฏิหอฉัน เป็นต้น  เพราะว่าในอดีตมีแต่กุฏิไม้หลังเก่า   ยกเว้นแต่สองกุฏินี้ยังคงเหมือนเดิม  คือ  กุฏิสองเมือง  กุฏิเมนะรุจิ   และศาลาการเปรียญ  แต่ก็มีการบูรณะใหม่บ้างเป็นบางส่วนและทุกวันนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอีก ขั้นหนึ่ง  คือแต่ก่อนจะมีแต่โรงเรียนเด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาล แต่เดี๋ยวนี้เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาล ชั้นประถมจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย   ทุกวันนี้ยังมีการสร้างอาคารซีเมนต์คอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นมาอีกสองหลัง  คือ  มหาวิทยาลัยมหามุกฎราชวิทยาลัยสูง ๖ ชั้นและอาคารหอประชุมอเนกประสงค์ ในปัจจุบันกำลังจะเสร็จสมบูรณ์
                                ประวัติความเป็นมา

ความ เป็นมาของวัดสุทธจินดา  แต่เดิมก่อนที่จะมาเป็นวัดสุทธจินดาในปัจจุบันมีวัดเก่าอยู่สองวัด  คือวัดบรมจินดาอยู่ทางส่วนใต้  มีเขตแต่สระข้างพระอุโบสถไป  วัดสมบูรณ์จิ๋วสีมารามที่ประชาชนเรียกกันว่าวัดหน้าท่อบ้าง  วัดเมรุบ้าง  วัดใหม่บ้าง  อยู่ทางส่วนเหนือ  มีเขตแต่คลองผ่านกลางวัดไปท่ามกลางระหว่างสองวัดนี้  อันเป็นที่ตั้งศาลาการเปรียญอยู่เดียวนี้  เป็นสวนของหลวงเทพานุพัฒน์  (เปลี่ยน  สุรคุปต์)  ซึ่งเจ้าของยกให้นางกระจ่างภรรยาคนที่สอง  และภายหลังนางกระจ่างยกให้เป็นที่ปลูกสร้างโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด  (คือโรงเรียนสุรนารีวิทยา)  วัดทั้งสองนี้เล่ากันมาว่า  วัดบรมจินดาพระบรมราชบรรหารเจ้าของที่ดินด้านหน้าวัดกับพวกมีจีนอ่วมและจีน น้อย  เป็นต้น  พร้อมทั้งบุตรภรรยาร่วมกันสร้าง  ชื่อวัดก็ตั้งตามผู้สร้างคือคำว่า  บรม  มาจากบรมราชบรรหาร  จิน  มาจากจินดา  "ดา"  มาจากภาษาพื้นเมืองว่า  ด้วยหรือด้วยกัน  รวมคำว่าวัดนี้พระบรมราชบรรหารกับจีนร่วมกันสร้างแต่จะสร้างศกไหนไม่ปรากฏ หลักฐานแน่ชัดสันนิษฐานว่าคงสร้างเป็นกุฏิสองหลังหรือสองคณะกับหอระฆังและ โรงพระอุโบสถ  กุฏิเหล่านี้เหลือมาถึงสมัยรวมวัด  คือเมื่อจีนทองคำและนางสวนภรรยารื้อรวมกันมีกุฏิสองหลัง  ส่วนพระอุโบสถตั้งอยู่ทิศอาคเนย์ของหมู่กุฏิห่างราว  ๑๕  วา พื้นปูนถืออิฐลาดซีเมนต์ฝากระดานหลังคามุงสังกะสีและวัดสมบูรณ์จิ๋วสีมาราม  ก็มีชื่อตามผู้สร้าง  คือนางสมบูรณ์และเจ๊กจิ๋วหรือหลวงพรหมเสนา  ภรรยาสามีเป็นผู้สร้างและสร้างในสวนของตน  เรียกว่าวัดหน้าท่อ  เพราะอยู่หน้าท่อคลองและชื่อนี้เรียกกันเป็นส่วนมาก  เรียกว่าวัดเมรุ  เพราะมีเมรุเผาศพ  ซึ่งจีนธิสร้างขึ้น  เรียกว่าวัดใหม่เพราะสร้างทีหลังวัดบรมจินดา  วัดนี้เมื่อแรกสร้างจะมีถาวรวัตถุอะไรบ้าง  มาทราบแต่เมื่อรวมวัดว่า  ของเก่าวัดนี้มีโรงพระอุโบสถฝาไม้  พื้นปูนอิฐลาดซีเมนต์  หลังคามุงกระเบื้องดินเผาหนึ่งหลัง ศาลาโรงธรรม  ฝาแถบเดียวมุงกระเบื้องซีเมนต์หนึ่งหลัง  และกุฏิสี่หลังมุงกระเบื้องบ้าง  สังกะสีบ้าง
                                       ต่อมาเมื่อทางราชการจัดการย้ายศาลารัฐบาลมณฑลมาจากกลางเมือง  ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือวัดพระนารายณ์มหาราช  มาตั้งที่มุมกำแพงเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้  เมื่อสร้างศาลารัฐบาลเป็นตึกสองชั้นและตึกอื่นๆ  ที่จำเป็นเสร็จแล้วได้รื้อกำแพงเมืองด้านตะวันตก  เปิดสนามหน้าศาลารัฐบาลแล้วให้มองเห็นที่ทำการรัฐบาลและสนามงามสง่าแล้ว  ย่อมแลเห็นวัดสมบูรณ์จิ๋วสีมารามและวัดบรมจินดาอันตั้งอยู่นอกคูเมือง  ชำรุดทรุดโทรมไม่สง่างาม  ควรคู่กับศาลารัฐบาลมณฑล
                                       พ.ศ. ๒๔๖๗  คณะข้าราชการทหารพลเรือนและพ่อค้าคหบดี  ซึ่งมีพระยาเพ็ชรปาณี  (ดั่ง  รักตประจิตร)  สมุเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมาเป็นประธาน  ได้ปรึกษากันว่า  เมืองนครราชสีมาเป็นหัวเมืองเอกในภาคอีสาน  การพระศาสนายังไม่เจริญรุ่งเรืองเหมือนบางมณฑลที่เจริญแล้ว เนื่องจากเจ้า คณะมณฑลมิได้สถิตอยู่ที่มณฑล ควรจะอาราธนาเจ้าคณะมณฑลให้มาสถิตอยู่ประจำ เมือง  จึงมีความเห็นชอบพร้อมกันว่าควรจะรวมวัดสมบูรณ์จิ๋วสีมารามกับวัดบรมจินดา ให้เป็นวัดเดียวกัน  และสร้างสรรค์ขึ้นเป็นใหญ่ให้สวยงาม  ควรเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง  สมเป็นวัดที่สถิตของพระมหาเถระ   ครั้นปรึกษาตกลงกันแล้ว  จึงมีใบบอกลงไปกราบทูลพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงอนุโมทนา  ประธานอนุญาตให้จัดการไปตามประสงค์  และทรงประทานนามวัดที่จะสถาปนาขึ้นใหม่นี้ว่า  "วัดสุทธจินดา"
              ครั้นแล้วสมุเทศาภิบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อดำเนินการในเรื่อง นี้ คณะกรรมการได้บอกบุญเรี่ยไรในมณฑลนครราชสีมาแต่เดิมมี  ๓  จังหวัด  คือ  นครราชสีมา,  บุรีรัมย์  และชัยภูมิ  ได้เงิน  ๗๘,๐๙๒  บาท  ๔๐  สตางค์  พระยาเพชรปาณีสละเงินเดือนหนึ่งเดือน  ๑,๐๐๐  บาท  ใน  พ.ศ.  ๒๔๖๘  เหมาช่างต่างประเทศสร้างพระอุโบสถ  รูปทรงถ่ายจากแบบพระอุโบสถวัดปริณายก  กรุงเทพมหานคร  กว้าง  ๑๐  เมตร  ยาว  ๒๓.๕๐  เมตร  สร้างเสร็จเมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๗๒  สิ้นเงินสร้าง  ๕๐,๐๐๐  บาท  และในปีนั้น  ได้สร้างกำแพงด้านหน้าวัดด้วยคอนกรีต  สิ้นเงิน  ๙,๘๐๐  บาท  พ.ศ.  ๒๔๖๘  ชาวนครราชสีมาร่วมบริจาคทรัพย์สร้างตึกหอสมุด  กว้าง  ๘  เมตร  ยาว  ๑๒  เมตร  อุทิศกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว  สิ้นเงินสร้าง  ๖,๐๐๐  บาท
                                       ในปีนี้เอง  ทางราชการรวมมณฑลนครราชสีมา  มณฑลอุบลราชธานี  และมณฑลร้อยเอ็ด  เข้าเป็นมณฑลนครราชสีมา  ย้ายพระยาเพชรปาณีไปเป็นสมุเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก  และตั้งพระยาเพชรดา  (สอาด  ณ  ป้องเพชร)  มาเป็นสมุเทศาภิบาลนครราชสีมา  ฝ่ายคณะสงฆ์ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ครั้งที่เป็นพระโพธิวงศาจารย์  เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธนี  วัดสุปัฏนาราม  มาเป็นเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมาระหว่างนั้น  ท่านคงยังว่าการคณะสงฆ์อยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร  พระยาเพชรดาจึงไปอาราธนามาอยู่วัดสุทธจินดา  เมื่อท่านรับแล้วได้ขอพระโพธิวงศาจารย์  (สังข์ทอง  นาควโร  พันธ์เพ็ง  ป.ธ. ๕)  เมื่อครั้งยังเป็นพระเปรียญอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร  มาเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑล  และสั่งพระอันดับส่วนหนึ่งจากวัดสุปัฏนารามมารอคอยอยู่ด้วย
                                       ถึงวันที่  ๘  พฤษภาคม  ๒๔๗๐  เวลา  ๑๕.๐๐  น.  คณะราชการและประชาชนมีพระยาเพชรดาเป็นประธาน  จัดขบวนแห่เจ้าคณะมณฑลและพระอนุจร  ซึ่งมาพักรออยู่ที่วัดแจ้งในมาสู่วัดสุทธจินดา  ด้วยขบวนแห่อันมโหฬาร  และได้ถวายอัฐบริขารเป็นอาคันตุกะทานตามศรัทธาของประชาชน  การรวมวัดก็เป็นอันเรียบร้อย  ยังความปีติแก่ประชาชนทั่วไป  ต่อมาพระยาเพชรดามาปรารภว่า  ทุนการก่อสร้างวัดก็พอจะยังการให้เป็นไปได้  ถ้าได้หาทุนสักก้อนไว้เป็นค่าภัตตาหาร  ก็ได้ชื่อว่าได้ตั้งหลักความเจริญเบื้องต้นให้กับวัด  จากนั้นได้จัดการบอกบุญทอดกฐินมาโดยลำดับ เวลา  ๗  ปี  ได้เงิน  ๑๖,๔๒๐  บาท  ๑๔  สตางค์  ส่วนตัวก็ได้บริจาคบำรุงภัตตาหารเดือนละ  ๓๐  บาท  ตลอดเวลาที่รับราชการอยู่ที่เมืองนี้  คณะราชการและพ่อค้าประชาชนหลายท่านก็ได้บริจาคเป็นรายเดือน  มากบ้าง  น้อยบ้าง  ตามกำลังศรัทธา  โดยพระยาเพชรดาจัดหาคนมาทำครัวถวาย  ทั้งเช้าทั้งเพล  และวันพระในพรรษาก็มีการถวายสังฆทานทั้งสำรับ  อาหาร  เครื่องใช้ของวัด  ขณะนั้นนับว่าสมบูรณ์ดี  ส่วนการสร้างและบูรณะวัดก็มีผู้ศรัทธาและบำรุงบ้าง  เช่นใน  พ.ศ.  ๒๔๗๐  นั้น  นางทวีวัฒนานุการ (ใหญ่  สุรคุปต์)  ซึ่งเป็นทายาทเจ้าของที่วัดสมบูรณ์จิ๋ว  ได้ถวายที่ดินทิศตะวันตกให้วัดเพิ่มอีก  ๒,๒๖๗  ตารางวา
                                       ต่อมา  ปี  พ.ศ.  ๒๔๗๑  นางคุณสารสมบัติ  (เลื่อน  ไกรฤกษ์)  มีศรัทธาสร้างกุฏิสองห้องมุงสังกะสีหนึ่งหลัง  สิ้นเงินสร้าง  ๗๐๐  บาท  และได้ร่วมกับนางทวีวัฒนานุการซึ่งได้สร้างกุฏิตรีมุขต้นไทรมุงกระเบื้อง  ก่อนรวมวัดเหลือมาอยู่จนบัดนี้  สละทรัพย์คนละ  ๒๐๐  บาทสร้างเวจกุฎี  (ห้องสุขา)  สี่ห้องหนึ่งหลัง
                                       พ.ศ. ๒๔๗๑  นี้  ท่านเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา  ได้เป็นผู้สั่งการคณะมณฑลอุดรธานีอีกตำแหน่งหนึ่ง  วัดสุทธจินดาจึงเป็นแหล่งบริหารคณะสงฆ์ทั่วภาคอีสาน  งานคณะและงานวัดมีมากขึ้น  ท่านจึงขอพระธรรมปิฎก  (พิมพ์  ธมฺมธโร)  เมื่อครั้งเป็นพระเปรียญอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร  มาเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลอีกผู้หนึ่ง  การศึกษานักธรรมและบาลีซึ่งเริ่มมาแต่รวมวัด  ก็เจริญขึ้นโดยลำดับ  โดยเฉพาะฝ่ายบาลี  วัดนี้เริ่มเปิดเป็นแห่งแรกในจังหวัดนี้  และในปีนี้  พระบูรคามบริรักษ์ (นาค  เมนรุจิ)  และนายเขียว  ชิ้นในเมือง  สละทรัพย์คนละ  ๓๐๐  บาท  ร่วมกับผู้อื่นอีกเป็นเงิน  ๖๗๐  บาท  จ้างขุดสระทางทิศเหนือแห่งหนึ่ง  กว้าง  ๒๐  เมตร  ยาว  ๔๐  เมตร  ลึก  ๒.๕๐  เมตร  เป็นสระเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดกาล
                                       พ.ศ. ๒๔๗๒  หลวงอุบลศักดิ์ประชาบาล  (พรหมนารท)  เมื่อเป็นปลัดจังหวัดอุบลราชธานี  ได้สร้างกุฏิมุงสังกะสีสองห้องหนึ่งหลัง  สิ้นเงินสร้าง  ๖๐๐  บาท  ทางวัดสร้างถังน้ำฝนข้างหอสมุดสิ้นเงิน  ๓๐๐  บาท  และซื้อที่ดินขยายวัดด้านตะวันตก  ๙๒๔  วา  เป็นเงิน  ๑๘๐  บาท  พร้อมกันนี้  นางลูกอินทร์  พันธุ์สนิท  ถวายเพิ่มอีก  ๓๒  วา  หลวงโภคาพินิจ  (กลิ่น  กลิ่นอุบล)  ๓๐  วา  พระบูรคามบริรักษ์  ถวายไม้ทำรั้ว  ๔  ตู้รถไฟ  ราคา  ๓๐๐  บาท
                                       พ.ศ. ๒๔๗๓  นายสองเมือง  แซ่ล้อ  สละทรัพย์  ๘๐๐  บาท  เหมาช่างจีนสร้างกุฏิตึกสองเมืองแซ่ล้องสองชั้น  มีมุขเด็จทรงโบราณ  กว้าง  ๗  เมตร  ยาว  ๑๒  เมตร  ให้เป็นที่อยู่ของรองเจ้าอาวาส
                                       พ.ศ. ๒๔๗๓  นี้  ท่านเจ้าคณะมณฑลและพระยาเพชรดาสมุเทศาภิบาลกับพระยาราช  สีมาจารย์  ศึกษาธิการมณฑล  เห็นกันว่าโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด  หรือโรงเรียนสุรนารี  อยู่กลางวัดไม่เหมาะที่จะสร้างวัดให้สวยงาม  จึงได้รื้อพระอุโบสถวัดบรมจินดาออกโดยจ่ายทุนวัดช่วย  ๘๐๐  บาท  และในปีนี้วัดศาลาทองว่างสมภารและพระสงฆ์  ชาวบ้านหัวทะเลจึงพากันร้องเรียนคณะมณฑล  ขอพระครูใบฏีกาหรั่ง (ชินวํโส)  และพระอนุจรวัดสุทธจินดาไปอยู่  วัดศาลาทองจึงกลายเป็นวัดธรรมยุตมาตั้งแต่บัดนั้น
                                       พ.ศ.  ๒๔๗๓  พระบูรคามบริรักษ์และขุนนิกษิตสุขมาสถ์  พร้อมกันถวายทัพสัมภาระสร้างกุฏิ  ยาว  ๗  ห้อง  หนึ่งหลัง  ทรงโบราณ  ประมาณการสร้าง  ๖๐๐  บาท  เป็นเงิน  ๑๒,๐๐๐  บาท  สร้างกุฏิตึกเมนรุจิชิ้นในเมือง  มีมุขเด็จและมุขยื่นด้านหลังทรงโบราณผสมใหม่  ๖.๕๐  เมตร  พระครูปลัดสุวัฒน์  (ใช้)  เป็นนายช่าง  ส่วนแรงงานส่วนมากเป็นกำลังพระเณร  กุฏิหลังนี้สร้างเป็นกุฏิเจ้าอาวาส  และในคราวเดียวกันนี้  พระบูรคามบริรักษ์ยังได้สร้างสะพานคอนกรีตข้ามคลองอุทิศแก่นางแหร่ม  ภรรยา  ๑  แห่ง  สิ้นเงินสร้าง  ๔๐๐  บาท  และสร้างครัวถาวรข้างกุฏิเมนรุจิหนึ่งหลัง  เป็นเงิน  ๒๕๐  บาท  ส่วนทางวัดก็ได้สร้างกุฏิมุงสังกะสีห้าห้องหนึ่งหลัง  เงิน  ๓๓๕  บาท  ๙๒  สตางค์  และจ่ายหาใบสีมาหินอ่อนขัดเงาเลื่อมทองแดงอย่างวัดราชประดิษฐ์  ติดที่พระอุโบสถ  ๘  ที่  เงิน  ๙๖๐  บาท  ค่าแรงงานถมที่วัดอีก  ๑๕๐  บาท
                                       วันที่  ๒๘  พฤษภาคม  ๒๔๗๗  เวลา  ๑๖.๓๐  น. พระสงฆ์เข้านั่งบนอาสน์สงฆ์  ข้าราชการและพ่อค้าประชาชนทุกฝ่ายพร้อมกันสมาทานศีล  และจับด้ายสายสิญจน์เททอง  ฆ้องกลองปี่พาทบรรเลงเพลงสาธุการ  เสร็จแล้วถวายภัตตาหารและเครื่องไทยธรรมแก่พระสงฆ์  ๔๕  รูป  พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี พระประธานองค์นี้หล่อได้ดีเต็มองค์ไม่บกพร่อง  จ้างช่างขัดเงาแล้วเชิญประดิษฐานเหนือแท่นบูชาในพระอุโบสถถวายพระนามว่า  พระพุทธสีหนาท  ขนาดองค์พระจากทับเกษตรถึงยอดพระรัศมีสูง  ๑.๘๓  เมตร  หน้าตักกว้าง  ๑.๔๕  เมตร  สิ้นค่าจ้างขัดแต่งทำฐานชุกชีปิดทอง  ติดไฟฟ้าและเครื่องสักการะประดับในพระอุโบสถเป็นจำนวนเงิน  ๒,๑๖๐  บาท  ๗  สตางค์
                                       ในปีนี้  ทรงพระกรุณาโปรดให้ท่านเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา  เมื่อเป็นที่พระธรรมปาโมกข์  เข้าไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบรมวิเวศ  ท่านจึงมอบวัดสุทธจินดาให้พระโพธิวงศาจารย์  (สังข์ทอง  นาควโร  พันธ์เพ็ง  ป.ธ. ๕)  เป็นเจ้าอาวาส  พระศาสนดิลก  (พิมพ์  ธมฺมธโร  ป.ธ. ๙)  เป็นรองเจ้าอาวาส  และพระครูปลัดสุวัฒน์เป็นผ้าช่วยปกครองวัดมา  ส่วนการคณะมณฑลยังตั้งสำนักงานอยู่ที่วัดสุทธจินดา  มอบให้พระโพธิวงศาจารย์รองเจ้าคณะมณฑลทำการแทน  พระศาสนดิลกเป็นผู้ช่วย  และปีถัดมานั้นทางวัดได้ซ่อมกุฏิสองเมืองชำรุด  สิ้นเงิน  ๘๐๐  บาท  ซ่อมตึกหอสมุด  ๗๐๐  บาท  สร้างกุฏิมุงสังกะสี  ๓  หลัง  สิ้นเงินสร้าง  ๑,๕๐๐  บาท  รวมจ่ายทุนวัดคราวนี้  ๓,๐๐๐  บาท
                                       เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๗๖  ทางรัฐบาลยุบมณฑลเหลือแต่ชั้นจังหวัดทั่วไป  พันเอกพะเริงรุกปัจจามิตร (ทอง  รักสงบ)  มาเป็นผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่  ๓  และพระยากำธรพายัพทิศ (ดิส  อินทโสฬส)  เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดนครราชสีมา  สมเด็จมหาวีรวงศ์เมื่อยังเป็นพระพรหมมุนี  บัญชาให้พระโพธิวงศาจารย์  (สังข์ทอง  นาควโร)  ไปขอความอุปถัมภ์จากผู้บังคับการมณฑลทหารบกและข้าหลวงประจำจังหวัดขอให้รับ ภาระสืบต่อการที่วัดยังค้างอยู่  นำความปรารภท่านทั้งสองว่า  การสร้างถาวรวัตถุส่วนอื่นๆ  ก็นับว่าเป็นไปพอสมควรแล้ว  ยังขาดพระพุทธรูปปฏิมาองค์ประธาน  อันเป็นสิ่งสำคัญ  ควรจะสร้างพระประธานนี้ขึ้น  ควรจะสร้างเป็นพระทองหล่อขัดเงาเท่าองค์พระสุคต  ขนาดพระสัพพัญญูในพระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม  จังหวัดอุบลราชธานี  ตามคำแนะนำของเจ้าคณะมณฑล  จะได้เป็นปูชนียวัตถุอันศักดิ์สิทธิ์เป็นศรีเมืองสืบไป  จึงบอกบุญชาวนครราชสีมา  ได้เงินรวม  ๓,๘๒๓  บาท  ๙๗  สตางค์  พระเริงรุกปัจจามิตรสละเงินเดือน  ๓๐๐  บาท  พระยากำธรพายัพทิศสละเงินเดือนหนึ่งเดือน  ๔๕๐  บาท  และบอกบุญได้ทองเหลืองทองแดงและโลหะต่างๆ เป็นจำนวนมาก  ได้ตั้งพิธีหล่อที่วัดสุทธจินดาเป็นงานมโหฬาร  มีกำหนดการโดยย่อดังนี้
                                       วันที่  ๒๗  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๗๗  เจ้าหน้าที่ตั้งพระพุทธรูปตั้งเครื่องสักการะบนโรงพิธี  ตั้งตู้เทียนชัย  วงด้ายสายสิญจน์  พระสงฆ์  ๔๕  รูป  มีเจ้าคณะมณฑลเป็นประธานเข้านั่งเหนืออาสน์สงฆ์  ข้าราชการทหารพลเรือนและพ่อค้าประชาชน  ประชุมพร้อมกัน  กองทหารและลูกเสือตั้งแถวเกียรติยศ  ครั้นเวลา  ๑๔.๐๐ น.  ได้ปฐมฤกษ์  เจ้าคณะมณฑลจุดเทียนชัย  พันเอกพะเริงรุกปัจจามิตรจุดธูปเทียนเครื่องสักการะในโรงพิธี  พระยากำธรพายัพทิศติดไฟสุมหุ่นพระประธาน  พระสงฆ์สวดคาถาจุดเทียนชัย  กองทหารยิงปืนใหญ่คารวะ  ๒๑  นัด  กองลูกเสือทำการเคารพ  แตรวงและพิณพาทบรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย  ครั้นสุดเสียงประโคมแล้ว  รับศีล  พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์  เสร็จแล้วพระพิธีชุดละ  ๔  รูป  เข้าประจำที่  พระยากำธรพายัพทิศจุดธูปเทียนเครื่องสักการะในพิธี  พระสงฆ์สวดท้องภาณ  พระวิปัสสนานั่งปรกตลอดคืนจนถึงศุภฤกษ์เททอง
                                       พ.ศ. ๒๔๗๗  นายเขียวและนางกิมหนึ่ง  ชิ้นในเมือง  สละทรัพย์  ๙,๐๐๐  บาท  เงินวัด  ๑,๙๓๐  บาท  นางเรียบ  แซ่ตัน  ๑,๐๐๐  บาท  และผู้อื่นอีกรวมเป็นเงิน  ๑๒,๐๐๐  บาท  สร้างศาลาการเปรียญสองชั้น  เสาคอนกรีต  ฝาเฟี้ยมทั้งสองชั้น  กว้าง  ๑๕  เมตร  ยาว  ๒๓  เมตร  พระครูปลัดเป็นนายช่างและกำลังส่วนใหญ่เป็นพระเณร  ศาลาหลังนี้นับว่าเป็นประโยชน์นักหนา  ขณะนี้ใช้เป็นทั้งโรงเรียนปริยัติธรรม  ที่บำเพ็ญกุศล  และที่ประชมครามใหญ่ของทางราชการ  อนึ่งในปีนี้  คณะทหารมณฑลที่  ๓  ได้สร้างถนนอิฐหน้าพระอุโบสถ  ยาว  ๔๖.๗๕  เมตรด้วย  ทำให้การเดินเข้าพระอุโบสถสะดวกทุกฤดูกาล
                                       เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๗๘  พันเอกพะเริงรุกปัจจามิตรผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่  ๓  ป่วยไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพญาไท (ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลพระมุงกุฎ)  ก่อนจะถึงอนิจกรรม  ได้รำลึกถึงวัดสุทธจินดาและวัดพระนารายณ์มหาราชใคร่จะขอให้เป็นพระอาราม หลวง  ทั้งสองวัด  จึงเขียนบันทึกให้พันตรีหลวงศรีโยธา  นายทหารคนสนิท  เป็นธุระติดต่อกรรมการจังหวัดนครราชสีมา  อันมีพระยากำธรพายัพทิศเป็นข้าหลวงประจำจังหวัด  ให้วัดทั้งสองเป็นพระอารามหลวง  เมื่อทางกรรมการจังหวัดติดต่อขอลงไป  ก็ได้ทรงพระราชกรุณาโปรดฯ  รับให้สถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี  ชนิดวรวิหาร  ให้ทั้งสองวัดเมื่อวันที่  ๒๓  มกราคม  ศกนั้นต่อแต่นี้ไป  การสร้างและบำรุงวัดไม่ค่อยเจริญเหมือนแต่ก่อน  เนื่องแต่เจ้าคณะมณฑลย้ายไปอยู่วัดบรมนิวาส  ผู้อยู่ภายหลังก็พยายามต่อตามแต่วาสนา  มีวัตถุที่สร้างและซ่อมแซม เช่น
                                       พ.ศ. ๒๔๗๘  นางทวีวัฒนานุการ  สร้างสะพานคอนกรีตอนุสาวรีย์สองเมืองหนึ่งที่
                                       พ.ศ. ๒๔๗๙  นายเขียวและนางกิมหนึ่ง ชิ้นในเมือง สร้างถังน้ำฝนคอนกรีต  ๓  ถัง สิ้นเงิน  ๔๕๐  บาท
                                       พ.ศ. ๒๔๘๑  ทางวัดสร้างสะพานคอนกรีตข้ามคลองหนึ่งที่  พระครูสุทธศีลสังวรเป็นนายช่าง  พระเณรเป็นกำลัง  สิ้นเงิน ๒๕,๗๗๙ บาท  สร้างซุ้มประตูด้านหน้า  ๓  ซุ้ม  ๑,๕๐๐  บาท
                                       พ.ศ. ๒๔๘๕  เนื่องแต่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์  เมื่อเป็น  เจ้าคณะมณฑลฯ  พิจารณาเห็นมานานแล้วว่าทางภาคอีสาน  ก็มีของเก่าโบราณไม่น้อย  ควรมีหอพิพิธภัณฑ์สำหรับภาค  รวมของเก่าไว้เป็นที่ศึกษาของกุลบุตรภายหลัง  และได้รวบรวมของเก่าเพื่อการนี้อยู่มากแล้ว  จึงให้รื้อโบสถ์วัดสมบูรณ์จิ๋วฯ  ข้างหอสมุดออก  หมายเป็นที่ปลูกสร้างหอพิพิธภัณฑ์ประจำภาค  ต่อไปเมื่อโบสถ์ออกแล้วทางวัดเอามาสร้างเป็นกุฏิ  ๓  ห้องหนึ่งหลัง  มุงกระเบื้องดินเผาตามเดิม
                                       พ.ศ. ๒๔๘๙  ซ่อมกุฏิ  ครัว  และศาลาการเปรียญ  ไว้รับงานพระราชทานเพลิงศพพระโพธิวงศาจารย์  (สังข์ทอง  นาควโร  พันธ์เพ็ง  ป.ธ. ๕)  สิ้นเงิน  ๓,๙๒๓.๒๕  บาท  เป็นเงินเทศน์มหาชาติ  ๒,๐๒๙.๒๕  บาท  เงินพระราชทานศาลจังหวัดนครราชสีมา  ๑,๐๐๐  บาท  นายเขียว  ชิ้นในเมือง  ๕๐๐  บาท  และนางฉะม้าย  อนุบาลสกลเขต  ๕๐๐  บาท  เฉพาะคณะบรมจินดา  พระปราจีนมุนี  ซึ่งมาจำพรรษาดูแลวัดในขณะนั้นและพระครูกิตติสารวิสุทธิ์  (จันโท)  ช่วยกันบอกบุญ  รื้อสร้างกุฏิหอฉัน  และครัวไฟสิ้นเงิน  ๑๒,๒๐๙.๙๐  บาท  ในเงินจำนวนนี้  นายต่าย  นางทองมี  รอดโพธิ์กลางบริจาค  ๔,๐๐๐  บาท  นายชุนห์  ลิมปสวัสดิ์และภรรยา  ๒,๐๘๐  บาท  ผู้บริจาคต่ำกว่านี้อีกหลายรายการ
                                       พ.ศ.๒๔๙๒  นางกลิ่น  ภูมิพิชัย  สละทรัพย์  ๕,๒๐๐  บาท  และนามแตงอ่อน  หงษ์เทศ  ๑,๐๐๐  บาท  สร้างถังน้ำฝนข้างศาลาการเปรียญหนึ่งถัง  นายแก้ว  อินทร์กำแหง  ถวายหินลูกรัง  ๒๖  รถ  สร้างถนนหน้ากุฏิเมนรุจิ  ถึงประตูวัด  คิดจะทำอนุสรณ์ให้อุบาสิกาพัน  อินทร์กำแหง  ต่อไป  และ  พันโทหลวงประมวล  พลภัตต์  (วงศ์)  บอกบุญติดไฟนีออนในพระอุโบสถ  ๘  ดวง  ในศาลาการเปรียญ  ๗  ดวง  ในกุฏิเมนรุจิ  ๒  ดวง  และในกุฏิสองเมือง  ๒  ดวง  มีชื่อผู้สร้างอยู่ที่ดวงไฟแล้ว  สิ้นเงินไม่นับในกุฏิสองเมือง  ๒,๙๖๖.๒๐  บาท  พระครูกิตติสารวิสุทธิ์  บอกบุญสร้างถังน้ำฝนคอนกรีตสำหรับคณะบรมจินดาหนึ่งแห่ง  สิ้นเงินประมาณ  ๑๒,๐๐๐  บาทและเนื่องในการทองกฐินพระราชทานสรรพสามิตภาคและสรรพสามิตจังหวัดในภาคสาม อันมีขุนบรรจงเจริญรัตน์  เป็นข้าหลวง  สรรพสามิตได้สร้างฟุตบาทรอบพระอุโบสถ  ๓  ด้าน  ลาดซีเมนต์  สิ้นเงิน  ๔,๒๕๐  บาท  และได้ถวายเงินบำรุงวัดอีก  ๑๐,๙๗๒.๒๕  บาท  นางเลียบ  แซ่ตัน  ถวายซ่อมคณะบรมจินดา  ๑,๐๐๐  บาท
                                       อนึ่งเนื่องในการทองกฐินพระราชทานของศึกษาธิการภาค  ๓  ปีต่อมาถวายเงินไว้บำรุงวัด  ๒,๐๐๐  บาท  และของนางแตงอ่อน  นายนกเทศ  หงษ์เทศ  กับร้อยโทอู๊ด  นิตยสุทธิ์และภรรยา  ปีถัดจากนั้นอีก  ๒,๐๐๐  บาท
                                       พ.ศ. ๒๔๙๗  ทางวัดมีพระอริยเวที  เจ้าอาวาสเป็นประธานร่วมกับคณะข้าราชการ  พลเรือน  ทหาร  ตำรวจ  และพ่อค้าประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา  ซึ่งมีพลตำรวจแส  น้อยเศรษ  ผู้ว่าราชการภาค  ๓  พล.ต.ครวญ  สุทธานินทร์  แม่ทัพกองทัพที่  ๒  เป็นรองประธาน  จัดงานประจำปีหารายได้สร้างกำแพงคอนกรีตด้านใต้ยาว  ๑๕๐  เมตร  สิ้นเงิน  ๕๗,๒๑๐  บาท
                                       พ.ศ.  ๒๔๙๘  ลุถึง  พ.ศ.  ๒๕๐๐  พระจันโทปมาจารย์  เป็นประธานจัดงานประจำปีหารายได้เพื่อวัตถุประสงค์  ๓  ประการ  คือ
๑)  ย้ายกุฏิคณะบรมจินดา  ให้ห่างจากพระอุโบสถ

๒)  ลงลักปิดทองบานประตูและหน้าต่างพระอุโบสถ

๓) สร้างกำแพงด้านเหนือและด้าน ตะวันตก

รวม เงินเหลือสุทธิจากผลงานประจำปี จำนวน ๙๙,๗๙๓.๔๐ บาท และใน พ.ศ.๒๕๐๐  นั้นเอง  นางทวีวัฒนานุการ  (ใหญ่ สุรคุปต์)  สร้างหอระฆังคอนกรีตและระฆังหนึ่งที่  เพื่ออุทิศให้หลวงทวีวัฒนานุการ  (เฉลิม  สุรคุปต์ )  สิ้นเงิน  ๓๐,๕๐๐  บาท  ในเงินจำนวนนี้  ทางวัดช่วยต่อเติมหลังคาด้วย  ๕๐๐ บาท
                                       พ.ศ. ๒๕๐๑  ทางวัดได้จ้างเหมาช่างก่อสร้างกำแพงคอนกรีตด้านเหนือและตะวันตกยาว  ๒๕๕  เมตร  กับประตูเหล็กปิดเปิดได้  ๒  ประตู  ด้วยเงินสุทธิจากผลงานประจำปี  พ.ศ.  ๒๔๙๘  ถึง  ๒๕๐๐  สิ้นเงิน  ๘๘,๓๐๓.๑๐  บาท  ยังเหลือที่ประมาณ  ๒๐๐  เมตร  จะรอบวัด  และจะได้หาทุนก่อสร้างต่อไป
                                       เสนาสนะของวัดที่มีอยู่ขณะนี้คือ  พระอุโบสถหนึ่งหลัง  กุฏิตึกสองชั้นสองหลัง  กุฏิไม้มุงสังกะสีบ้าง  กระเบื้องบ้างต่างๆ  กัน  ๑๔  หลัง  ศาลาการเปรียญสองชั้น  ๑  หลัง  ศาลาโรงธรรม  ๑  หลัง  และครัวไฟ  ๔  หลัง  ถังน้ำฝนคอนกรีต  ๔  ใบ  หอระฆังและระฆัง  ๑  ที่  ความเป็นอยู่ของพระเณร  วัดนี้เคยเป็นที่อยู่และเป็นที่บริหารคณะสงฆ์ของเจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะตรวจ การภาค ทั้งเป็นสำนักศาสนศึกษาธรรมและบาลีแห่งแรกในจังหวัด  พระภิกษุสามเณรจึงมาจากแทบทุกจังหวัดในภาคอีสานเพื่อมุ่งศึกษาพระ ปริยัติธรรมและอื่นๆ  พระเณรจำพรรษาปีละตั้งแต่ ๖๕ -๘๐  รูปเสมอมา
                  ความเป็นอยู่สมัยมีเทศาภิบาลได้รับความสะดวกมากเพราะ เทศาภิบาลเป็นหัวหน้า เอาใจใส่วัด จัดคนทำครัวถวายทั้งเช้าและเพลครั้นท่านย้ายไปแล้วไม่นานแกงก็งด  พันโทหลวงประมวณพลภัตต์ไวยาวัจกรเห็นพระเณรอัตคัดมาก จึงได้เริ่มบอกบุญข้าราชการ พ่อค้าประชาชนเป็นประจำทุกเดือนมาให้แม่ขาวบ้างคนอื่นบ้างและนำข้าราชการ อื่นๆ มาตักบาตรแทบทุกบ้านตลอดกิจการอื่นๆ ครั้นมาถึงสมัยท่านจอมพลผิน ชุณหะวัณมาเป็นผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่  ๒  ท่านเห็นความอัตคัตขาดแคลนของพระเณร ได้ชักชวนครอบครัวนายทหารทำแกงเวรมาถวายเวลาเพล วันละครอบครัวบ้างสองสามครอบครัวบ้างตามกำลังอาหารบิณฑบาตของพระเณรก็สะดวก ขึ้น  เอาใจใส่ด้วยดีประกอบกับวัดพึ่งตั้งใหม่โดยความดำริของคณะข้าราชการและ ประชาชนจำต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษอยู่เอง  พอหมดสมัยเทศบาลครัวก็หมด
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญในวัด
                                      พระพุทธรูปสำคัญ
                                              (๑)  สมเด็จพระเจ้าองค์ดำวัดสุทธจินดา  เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดสุทธจินดา  สร้างมาแต่สมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน  ตามประวัติสืบทราบได้มาว่าสถิตอยู่  ณ  วัดสุทธจินดา  เมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๘๐  สมัยที่พระโพธิวงศาจารย์  (สังข์ทอง  พันธุ์เพ็ง)  ขณะดำรงสมณะศักดิ์ที่  พระธรรมฐิติญาณ  เจ้าอาวาสรูปที่  ๒  วัดสุทธจินดา  และรองคณะเจ้ามณฑลอีสาน  สมเด็จมหาวีรวงศ์  (อ้วน  ติสฺโส  แสนทวีสุข)  เป็นเจ้าคณะมณฑล  พระธรรมฐิติญาณได้ไปตรวจราชการคณะสงฆ์ที่จังหวัดมหาสารคาม  ท่านได้รับถวายพระพุทธรูปสำริด  ศิลปะเชียงแสน (ลาว)  ขนาดหน้าตัก  ๑๒  นิ้ว  ประทับบนฐานเขียง  ๗  เหลี่ยม  ๑  องค์  พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระประจำเจ้าเมืองมหาสารคาม  ตกทอดมาถึงชั้นเหลน  โหลน  ได้กราบไหว้บูชารักษาไว้ประจำ  ภายในมีผู้คนได้ทราบถึงกิตติศัพท์ความขลังศักดิ์สิทธิ์ด้วยประการต่างๆ  จึงต้องการที่จะครอบครองเป็นการส่วนตัว  ได้มีการรบกวนทายาทเจ้าเมืองด้วยประการต่างๆ  ทั้งทางดีและทางร้าย  ทายาทเจ้าเมืองมหาสารคมได้พิจารณาเห็นว่า  ควรจะได้อัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไปสถิตอยู่กับท่านผู้มีบารมีจึงจะ เหมาะสมกว่า  เมื่อได้ทราบว่ารองเจ้าคณะมณฑลมาตรวจราชการคณะสงฆ์ที่จังหวัดมหาสารคาม  เป็นพระเถระผู้มีบุญบารมีสมควรที่จะได้นำถวายท่าน  ก็จะได้เป็นการดี  และหมดภาระที่จะดูแลรักษาต่อไป  และองค์ท่านจะนำไปควบคุมรักษาไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชาเป็นส่วน รวม  จึงตกลงถวายพระพุทธรูปองค์นี้แด่พระธรรมฐิติญาณ  รองเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา  เมื่อท่านได้รับและอนุโมทนาแล้ว  ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้  ณ  วัดสุทธจินดา  จังหวัดนครราชสีมา  ตั้งแต่  พ.ศ.  ๒๔๘๐  เป็นต้นมาจนถึงบัดนี้
                                              พระพุทธลักษณะของสมเด็จพระเจ้าองค์ดำวัดสุทธจินดา  พระพุทธรูปสมเด็จพระเจ้าองค์ดำสุทธจินดา  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย  นั่งขัดสมาธิราบ  หล่อด้วยโลหะสำริด  และพระรัศมีทรงบายศรี  ฐานพระเมาลีมีวงรัดเกลียววัว  ๔  เกลียว  พระเกศาเป็นลักษณะคล้ายปุ่มเปลือกขนุนไม่เป็นระเบียบ  วงพระพักตร์สี่เหลี่ยมรับกับพระกร  หูที่ย้อยลงมาเสมอข้างพระหนุ (คางแหลม)  พระโขนง (คิ้ว) นูนโก่ง  และพระเนตร  (ตา)  เหลียวต่ำ  พระนาสิก (จมูก) โด่ง  พระโอษฐ์  (ปาก)  เล็ก  มีเส้นรอบมองลักษณะคล้ายยอมยิ้ม  บางครั้งเหมือนทำหน้าบึ้ง  พระอังสา  (ไหล่)  ทั้งสองข้างอ้วนดูแข็งแรง  พระกร  (แขน)  กลมกลึงได้สัดส่วน  พระหัตถ์ (มือ) ซ้ายวางบนพระเพลา  (ตัก)  พระหัตถ์ขวาวางค้ำลงที่พระชานุ (เข่า)  พระองคุลี (นิ้ว) ชี้ที่พระธรณี  ปลายพระองคุลีงอน  จีวรแนบติดพระองค์  ชายสังฆาฏิตัดยาวถึงพระนาภี (สะดือ)  ชายอันตรวาสก (สบง) เป็นเส้นที่ครึ่งน่องประทับนั่งบนฐานเขียง  ๗  เหลี่ยม  เนื่องจากผิวพรรณขององค์มีลักษณะดำ พระเดชพระคุณพระธรรมโสภณ(โกศล สิรินฺธโร)   จึงได้ถวายพระนามว่า  สมเด็จพระเจ้าองค์ดำ  นามชื่อพระเจ้าองค์นี้ปรากฏว่ามีหลายองค์  เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น  พระเดชพระคุณฯ จึงได้ให้ชื่อว่า "สุทธจินดา" ต่อท้ายเป็นพระลักษณะที่เป็นของวัดสุทธจินดา
                                              การเสด็จไปของพระเจ้าองค์ดำ  พันโทจรุญ  จันทร์เหลือง  ไวยาวัจกรวัดสุทธจินดาบันทึกไว้ว่า  วันเสาร์ที่  ๒๓  สิงหาคม  พ.ศ. ๒๕๔๐  แรม  ๕  ค่ำ  เดือน  ๙  ปี  ฉลู  สมเด็จพระเจ้าองค์ดำสุทธจินดา  พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำริดปางมารวิชัย  ศิลปะเชียงแสน ขนาดหน้าตัก  ๑๒  นิ้ว ตั้งบูชาอยู่ที่กุฏิสองเมืองชั้นสอง  ในห้องของหลวงพ่อพระธรรมโสภณได้หายไปในระหว่างเวลา ๐๗.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. แล้วมีลูกศิษย์ได้นำสมเด็จพระเจ้าองค์ดำกลับคืนมาสู่วัดสุทธจินดาอีกครั้ง  ตั้งแต่วันที่  ๒๖  พฤษภาคม ๒๕๔๑  เวลา ๑๘.๐๐ น.และตั้งประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้เคารพบูชา ณ วัดสุทธจินดาต่อไป 
                                              (๒)  พระบรมสารีริกธาตุ  ความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ  ของวัดสุทธจินดาพระบรมสารีริกธาตุส่วนนี้ เป็นส่วนมัลลกษัตริย์เก็บไว้ในสถานที่ปรินิพพานของพระองค์สมพระสัมมาสัมพุทธ เจ้า  คณะสงฆ์พม่านำโดย  พระญาณเณศวรแห่งพม่า เมืองกุสินารา  รัฐอุตรประเทศเป็นผู้เก็บรักษาไว้พร้อมด้วยนายราชไภ  ปัตตาจาเรีย และนายสุภูติ  ศากยะ  ซึ่งเป็นเชี้อสายชาวศากยวงศ์พร้อมด้วยพระสังฆนายกเนปาลพระสังฆ์ฝ่ายเถรเวท  และฝ่ายมหายานชาวธิเบตร้อยกว่ารูป ทูตานุทูตจากประเทศไทย  เมียนมาร์  ศรีลังกา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬา  ผู้ว่าการรัฐสภา  ผู้ว่าราชการรัฐกาฏมัณฑุประเทศเนปาลมาร่วมพิธีถวายแด่พระสงฆ์ไทย  มีพระครูภาวนาจิตสุนทร  วัดอรัญญิกาวาส  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี  เป็นหัวหน้าคณะ  ถวายเมื่อวันที่  ๒๕  กุมภาพันธ์  ๒๕๔๓  ณ  โรงละครแห่งชาติประเทศเนปาล  จำนวนพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด  ๘๕๘  องค์  และได้เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่  ๒๖  กุมภาพันธ์   ๒๕๔๓  พระราชสุมนต์มุนี  เจ้าอาวาสวัดพระราม  ๙  กาญจนาภิเษก  พร้อมด้ายคณะ  ไปริรับที่รับรองพิเศษสนานบินดอนเมือง  เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานไว้  ณ  พระอุโบสถวัดพระราม  ๙  กาญจนาภิเษกเปิดให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยไดสักการบูชาตั้งแต่บัดนั้นจนถึงวัน ที่  ๑  พฤษภาคม  ๒๕๔๓  และคณะสงฆ์ได้ประกอบพิธีมอบถวายแก่วัดและสถานที่ต่างๆ  ในประเทศไทยและต่างประเทศ  ๔๘  แห่ง  วัดสุทธจินดา  ได้รับมอบพระบรมสารีริกธาตุจำนวน  ๙  องค์ โดยพระเดชพระคุณพระธรรมโสภณเจ้าคณะภาค  ๘  (ธรรมยุต)   เจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา  เป็นประธานคณะได้รับมอบพระบรมสารีริกธาตุ จากวัดพระราม  ๙  กาญจนาภิเษก  เมื่อวันที่  ๑  พฤษภาคม  ๒๕๔๓  และได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นถาวร  ในพระอุโบสถวัดสุทธจินดาวรวิหาร   อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา   ตั้งแต่วันที่  ๑  พฤษภาคม  ๒๕๔๓  เวลา  ๑๙.๐๐  น.  เป็นต้นมา
                                              (๓)  ประวัติพระพุทธรูปปางคันธารราษฏร์ หรือ ปางขอฝน  สมัยหนึ่ง  ณ  พระนครสาวัตถี  แค้วนโกศล  เกิดความแห้งแล้งฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล  พืชพันธุ์ธัญญาหารในเรือกสวนไร่นาได้รับความเสียหายเป็นอันมาก  ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้  น้ำในห้วยหนองคลองบึงน้อยใหญ่เหือดแห้งขอดไปสิ้น  แม้แต่สระใหญ่อันเป็นสระโบกขรณีภายในวัดพระเชตวันมหาวิหาร  ซึ่งเป็นแหล่งน้ำฉันน้ำใช้สำหรับพระสงฆ์สามเณร  ตลอดจนผู้คนที่สัญจรไปมาเคยได้อาบอาศัยกินก็แห้งขอดติดก้นสระเกิดความทุกข์ ยากเพราะขาดน้ำบริโภคอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  ในสมัยนั้น  พระบรมพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในวัดพระเชตวันมหาวิหารกรุงสา วิถี  มีพระประสงค์จะทรงอนุเคราะห์แก่มหาชนคนและสัตว์ที่ได้รับความเดือดร้อน    เมื่อเสด็จกลับจากบิณฑบาตโปรดสัตว์และทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว  ทรงมีรับสั่งเรียกพระอานนท์เถระพุทธอุปัฏฐากให้นำผ้าชุบสรงน้ำมาถวาย พระอานนท์เถระกราบทูลว่า  บัดนี้  น้ำในสระโบกขรณีได้แห้งขอดติดก้นสระแล้ว  พระเจ้าข้า  พระบรมพระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า  อานนท์   ตถาคตมิได้จะสรงน้ำในสระ  แต่จะสรงน้ำฝน  พระอานนท์ได้สดับพระพุทธเจ้าดำรัสเช่นนั้น  ก็มีความรู้สึกเกิดความฉงน ด้วยในเวลาห้วงนั้นไม่มีแววแห่งเมฆฝนและดวงตะวันก็แผดแสงอันแรงกล้า  แต่เมื่อเป็นพุทธประสงค์และมีความเชื่อในพุทธานุภาพแห่งพระบารมี  จึงได้นำผ้าชุบสรงน้ำมาถวาย  พระบรมศาสดาทรงรับผ้า ชุบสรงน้ำแล้ว  จึงได้ทรงผ้าชุบสรงน้ำนั้น  โดยให้ชายผ้าข้างหนึ่งปกปิดพระวรกาย ชายผ้าอีกข้างหนึ่งตวัดขึ้นพาดพระอังสะห้อยลงมา แล้วเสด็จไปประทับยืนบนบันไดสระโบกขรณี  ทรงยกพระหัตถ์ขวาขึ้นเสมอพระอุระกวักเรียกน้ำ  ทรงยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นเหนือพระนาภีหงายรองรับน้ำฝน  ทันใดนั้นเองก็ได้บังเกิดมหาเมฆตั้งเค้าขึ้นพร้อมกันในทั่วทุกสานุทิศด้วย อานุภาพแห่งพระพุทธบารมีและพระหทัยเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย  ในที่สุดฝนก็ได้ตกลงมาเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก  ฝูงปลาในสระโบกขรณีต่างก็ดีใจกระโดดลิงโลดอย่างมีความสุขสดชื่น  ปรีดาปราโมทย์ต่างพนมมือนมัสการเซ่งซ้องสาธุการแด่พระบรมศาสดาเสียงดังสนั่น ทั่งพระนครสาวัตถี พระพุทธประวัติตอนที่ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นกวักเรียกฝนนั้น ถือเป็นศุภนิมิตอันประเสริฐ  จึงมีผู้นำมาเป็นแบบสร้างพระพุทธรูปปางขอฝน  หรือปางคันธารราษฎร์  หรือปางคันธาราฐ  เหตุผลเพราะพระพุทธปางนี้สร้างขึ้นที่เมืองคันธาระเป็นครั้งแรก  เมื่อราวปี  พ.ศ.  ๓๖๓ – ๓๘๓  โดยพระเจ้ามิลินทราช  เจ้าผู้ครองเมืองคันธาระมัชฌิมประเทศ (อินเดีย)
                                       ประเทศไทยโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  รัชกาลที่  ๑  ได้จัดสร้างพระพุทธรูปปางคันธาราชหรือปางคันธาราฐ ปางขอฝนขึ้นในปีราว พ.ศ.๒๓๒๕  เป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลที่  ๑  ประดิษฐานอยู่ในหอพระคันธาราฐวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ในพระบรมมหาราชวัง  กรุงเทพฯ  เป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์  เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ  พระหัตถ์ขวายกขึ้นกวักเรียกฝนสูงเสมอพระอุระ  บางองค์ยกพระหัตถ์สูงเสมอพระอังสะก็มีพระหัตถ์ซ้ายหงายบางบนพระเพลา  รองรับน้ำฝน ประกาศใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
                                       ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๕ ทรงพระโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระพุทธปางคันธาราฐปางขอฝน  เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน  ตามแบบศิลปะอินเดียและตามหลักฐานทางพุทธประวัติที่กล่าวในตอนต้น  ในปี  พ.ศ.  ๒๔๑๑ – ๒๔๕๓  และทางวัดสุทธจินดาได้สร้างขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่หน้าพระอุโบสถ  ในลักษณะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบทยืน  ตามแบบศิลปะอินเดีย

ประวัติ เจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา

รายชื่อเจ้าอาวาสเดิม

ก่อนรวมเป็นวัดสุทธจินดา วัดทั้ง ๒ ต่างมีเจ้าอาวาสหลายรูป เท่าที่ทราบคือ

เจ้าอาวาสวัดบรมจินดา มี ๕ รูป

พระอธิการสุข

พระอธิการสนธิ์

พระอธิการป้อม

พระอธิการโต

พระ อธิการคำ ( หลวงตาคำ) รูปนี้มีภูมิลำเนา บ้านประโดก ตำบลหมื่นไวย  อำเภอเมือง  นครราชสีมา  ครองวัดมา  ๓๒ ปีและอยู่ที่วัดเรื่อยมาโดยไม่แปลงนิกาย อายุ  ๙๓ ปี  จึงมรณะภาพ

รายชื่อเจ้าอาวาสวัดสมบูรณ์จิ๋วสีมาราม มี ๖ รูป

พระอธิการก่ำ

พระอธการสุข

พระอธิการแสง

พระอธิการหว่าง

พระอธิการสอ

พระครูใบฎีกาหรั่ง ซึ่งภายหลังไปอยู่วัดศาลาทอง รูปหลังนี้ครองวัดมา ๖ ปี แล้วจึงรวมและแปลงนิกายเป็นธรรมยุต

หลัง จากวัดสุทธจินดา  ได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวงแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ  ในรัชกาลที่  ๙  เสด็จพระราชดำเนินวัดสุทธจินดา  รวม  ๒  ครั้ง

เสด็จฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่  ๘  พฤศจิกายน  ๒๔๙๘ (คราวเสด็จประพาสภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งแรก)  คณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมาทั้ง  ๒  ฝ่าย  รวม  ๙๐  รูป  ร่วมกันจัดรับเสด็จที่พระอุโบสถวัดสุทธจินดา  คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย  มีพระสีหราชสมาจารมุนี  เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมาและเจ้าอาวาสวัดบึง  เป็นประธาน  คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตนิกาย  มีพระอริยเวที ( เขียน ฐิตสีโล  ป.ธ. ๙ )  เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดนครราชสีมาและเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา  เป็นประธาน เมื่อประธานคณะสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย เบิกตัวถวายของที่ระลึกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสว่า "พระองค์ได้ทราบข่าวนานแล้วว่า คณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมามีความสามัคคีกันเป็นอันดี ได้มาพบเห็นด้วยพระองค์เอง จึงพอพระทัยมากขอให้คณะสงฆ์ร่วมกันรักษารักษาความดีไว้ตลอดไป คณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นสัจจธรรม ธรรมที่ไม่ตาย ร่วมกันปฏิบัติตราบเท่าทุกวันนี้"

เสด็จฯ ครั้งที่  ๒  เมื่อวันที่  ๘  พฤศจิกายน  ๒๕๑๗ ( คราวเสด็จทอดพระกฐินต้น  วัดสุทธจินดา)  ก่อนเสด็จกลับ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงตรัสปรารภกับคณะสงฆ์วัดสุทธจินดาว่า" เสด็จทอดกฐินต้นวันนี้ได้พบเห็นชาวจังหวัดนครราชสีมาเป็นจำนวนมาก และทรงทอดพระเนตรวัดและคณะสงฆ์วัดนี้ มีความพร้อมเพรียงเรียบร้อยดี พระองค์ทรงพอพระทัยมากแต่อยากให้วัดนี้ได้ช่วยเหลือเด็กเรียนภาษาไทยโดย เฉพาะอีกทางหนึ่งด้วย"

วัดสุทธจินดา โดยอาศัยพระราชดำริ จึงได้นำเงินพระกฐินต้น จำนวน  ๒๒๐,๐๐๐  บาท (สองแสนสองหมื่นบาทถ้วน)  ฝากธนาคารเพื่อใช้ดอกผลตามพระราชดำริและได้จัดตั้งโรงเรียนเด็กก่อนเกณฑ์ ขึ้นภายในวัดสุทธจินดาให้ชื่อว่า "โรงเรียนอนุบาลวัดสุทธจินดา" ตามพระราชดำรินั้น เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๗ ขณะนั้น มีนักเรียนทั้งสิ้น ๒๒๐ คน มีครู ๑๐  คน  แบ่งเป็นครูพระภิกษุ  ๒  รูป  เป็นครูฆราวาส  จำนวน  ๘  คน
ใช้หลักสูตรและดำเนินการเรียนการสอน ตามอย่างโรงเรียนอนุบาลนครราชสีมาทุก ประการ

เจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาสมัยรวมวัด

๑.) สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน  ติสฺโส  แสนทวีสุข  ป.ธ.๕) ภูมิลำเนา  บ้านแคน  ตำบลดอนมดแดง  อำเภอเมืองอุบลราชธานี  เกิดวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๔๑๐  บรรพชาเมื่ออายุ ๑๙ ปี เมื่อบรรพชาและอุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาพระธรรมวินัยที่จังหวัดอุบลฯและกรุงเทพฯเป็นเปรียญธรรม  ๕  ประโยค  เป็นผู้ช่วยและผู้อำนวยการศึกษามณฑลอุบลฯ เป็นเจ้าคณะมณฑลอุบลฯ ว่าการมณฑลร้อยเอ็ดและอุดรฯเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา  สมาชิกสังฆสภา สังฆนายกรูปแรกแห่งประเทศไทยและได้เลื่อนสมณศักดิ์โดยลำดับ คือ ที่ศาสนดิลก  พระราชมุนี  พระเทพเมธี  พระโพธิวงศาจารย์  พระธรรมปาโมกข์ พระพรหมมุนี  และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์  มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๙ ชนมายุ ๘๘ ปี

๒.) พระโพธิวงศาจารย์ ( สังข์ทอง  นาควโร  พันธ์เพ็ง  ป.ธ  ๕)  ภูมิลำเนา  บ้านในเมืองอุบลราชธานี  เกิดวันที่  ๑๘  พฟศจิกายน  ๒๔๓๖  บรรพชาอายุ  ๑๘ ปี ที่วัดบวรนิเวศฯ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระอุปัชฌายะทั้งสามเณรและเป็นพระภิกษุ  เป็นเปรียญ ๕ ประโยค  สมเด็จพระมหาวีรวงศ์  ขอมาอยู่ด้วยช่วยวัดสุทธจินดารุ่นแรก  ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสและรองเจ้าคณะมณฑลเจ้าคณะตรวจการภาค ๓  สมาชิกสังฆสภา โดยลำดับ  ได้รับสมณศักดิ์ที่พระธรรมฐิติญาณ  แล้วเลื่อนเป็นพระโพธิวงศาจารย์ (เทียบชั้นเทพ)และมรณภาพเมื่อวันที่ ๓ กรกฏาคม  ๒๔๘๙  อายุ ๕๓ ปี

๓.) พระอริยเวที (เขียน  ภูสาหัส  ป.ธ.๙)ภูมิลำเนา  บ้านโพน  ตำบลโพน  อำเภอสหัสขันธ์  จังหวัดกาฬสินธุ์  เกิดวันที่  ๒๙  ตุลาคม ๒๔๕๖ บรรพชาเมื่ออายุ ๑๖ ปี ที่วัดบ้านโพน  ย้ายมาอยู่วัดสุทธจินดา แล้วเรียนต่อที่สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเปรียญธรรม  ๙  ประโยคแล้วไปวัดพระศรีมหาธาตุ ๔ ปี รวม ๘ ปีแล้วกลับมาวัดนี้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส (พ.ศ.๒๕๐๐)

๔.) พระเทพสุธาจารย์ ( คุณสมฺปนฺโน  โชติ  เมืองไทย  ป.ธ. ๕) ภูมิลำเนาเกิดที่บ้านกะทม หมู่ที่ ๑๑ ตำบลนาบัว อำเภอเมือง  จังหวัดสุรินทร์  เวลายามหนึ่งแห่งวันจันทร์ที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๑ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก  บรรพชาที่วัดป่ากุดเสม็จ  ตำบลเฉนียง  อำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ โดยพระครูรัตนากรวิสุทธิ์  ( ดูลย์  อุตโล)เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดสุรินทร์ เป็นอุปัชฌายะ เมื่อวันจันทร์วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน  ปีชวด พ.ศ.๒๔๖๗ อายุ ๑๗ ปี อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสุทธจินดาในเมืองนครราชสีมาเมื่อเวลา ๑๘.๔๘ น. ของวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๑ เมื่ออายุ ๒๐ ปี โดยสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ยังได้ดำรงสมณศักดิ์ที่พระโพธิวงศาจารย์เป็นพระอุปัชฌายะ  พระโพธิวงศาจารย์ (สังข์ทอง) เมื่อยังเป็นเปรียญเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมปิกฎ (พิมพ์) เมื่อยังเป็นเปรียญเป็นอุสาวนาจารย์เป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา  เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๐๑ โดยตราตั้งที่ ๓/๒๕๐๑ ไดัรับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชสุทธาจาารย์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๒

๕.) พระธรรมบัณฑิต ( ญาณ ญาณชาโล) ชื่อเดิม ญาณ ดาโรจน์ เกิดวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ ตรงกับวันอังคาร แรม ๑๑ ค่ำเดือน ๘ ปีชวด ที่บ้านพนา ตำบลพนา อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่จังหวัดอำนาจเจริญ) บรรพชาเป็นสามเณร พ.ศ.๒๔๗๓  ที่วัดสุทธจินดา  อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา  พระธรรมปราโมกข์  อ้วน  ติสฺโส  เจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาเป็นอุปัชฌาย์  ภายหลังได้เลื่อนสมณะศักดิ์เป็นสมเด็จมหาวีรวงศ์ (อ้วน  ติสฺสมหาเถร) พระธรรมฐิติญาณ (สังข์ทอง  นาควโร)  เป็นอาจารย์ให้สรณะและศีล ได้รับพระราชทานเลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมบัณฑิต เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๕

๖.) พระธรรมโสภณ (โกศล  สิรินฺธโร)  ชื่อเดิม  โกศล  นามสกุล  โพธิ์งาม  เกิดเมื่อวันจันทร์  แรม  ๑๔  ค่ำ  เดือน  ๗  ปี ชวด  เวลา  ๑๔.๐๐  น. ตรงกับวันที่  ๓๐  มิถุนายน  ๒๔๗๖  บิดาชื่อ  นายสอน  โพธิ์งาม  มารดาชื่อ  นางสงค์  โพธิ์งาม  ที่บ้านระเวียง  หมู่ที่  ๑๔  ตำบลเบิด  อำเภอรัตนบุรี  จังหวัดสุรินทร์  บรรพชา  ณ วัดสุทธจินดาเมื่อวันที่  ๒๐  กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๔๘๓ อายุ  ๑๕  ปี โดยมีพระธรรมฐิติญาณ ( สังข์ทอง  นาควโร)  เป็นอุปัชฌาย์  พระมหาดี  ญาณาสโย  เป็นผู้ให้สรณะและศีลในการบรรพชา  อุปสมบท  ณ  วัดสุทธจินดา โดยมีโพธิวงศาจารย์ (สังข์ทอง  นาควโร)  เป็นอุปัชฌาย์  มีพระมหาดี  ญาณาสโย  เป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระศรีธรรมวงศาจารย์ (จันทร์  เกสโร)  วัดสุปัฏนาราม  จังหวัดอุบลราชธานี  เป็นพระอนุสาวนาจารย์  เมื่อวันที่  ๒ มกราคม  พ.ศ.  ๒๔๘๙  ตรงกับวันพุธ  แรม  ๑๔  ค่ำ  เดือนอ้าย  เวลา  ๑๓.๕๒ น.
           ประวัติการศึกษา และ การปกครอง
พ.ศ. ๒๔๗๗  จบชั้นประถมศึกษาปีที่  ๔  โรงเรียนประชาบาลวัดธรรมวงศา  บ้านระเวียง  ตำบลเบิด  อำเภอรัตนบุรี  จังหวัดสุรินทร์
พ.ศ. ๒๔๘๓  สอบได้นักธรรมชั้นตรี  สำนักเรียนวัดสุทธจินดา
พ.ศ. ๒๔๘๔  สอบได้นักธรรมชั้นโท  สำนักเรียนวัดสุทธจินดา
พ.ศ.๒๔๘๕  สอบได้นักธรรมชั้นเอก  สำนักเรียนวัดสุทธจินดา
พ.ศ. ๒๔๘๖  สอบได้เปรียญธรรม  ๓  ประโยค  สำนักเรียนวัดสุทธจินดา
พ.ศ. ๒๔๘๙ – ๒๔๙๐ ได้ไปศึกษาอบรมนักเรียน ครูและนักเรียน การปกครองสำนักเรียนการปกครองตำแหน่งหน้าที่ทางคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นครูสอนปริยัติธรรมและเป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมสนามหลวง
พ.ศ. ๒๔๙๕  เป็นเลขานุการคณะธรรมยุตจังหวัดนครราชสีมา
พ.ศ.  ๒๕๐๐  เป็นเจ้าคณะธรรมยุต  อำเภอเมือง  และอำเภอสีคิ้วจังหวัดนครราชสีมา
พ.ศ.  ๒๕๐๓  เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา
พ.ศ.  ๒๕๐๗  เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดนครราชสีมา
พ.ศ.  ๒๕๐๘  เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา (ธรรมยุต)
พ.ศ.  ๒๕๑๔  เป็นพระอุปัชฌาย์  คณะธรรมยุต
พ.ศ.  ๒๕๑๙  เป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา
พ.ศ.  ๒๕๑๙  เป็นรองเจ้าคณะภาค  ๑๐ (ธรรมยุต)
พ.ศ.  ๒๕๒๘  เป็นรองเจ้าคณะภาค  ๑๑ (ธรรมยุต)
พ.ศ.  ๒๕๔๒  เป็นเจ้าคณะภาค  ๘ (ธรรมยุต)
              สมณศักดิ์
๕ ธันวาคม ๒๕๐๑ รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น  พระครูสัญญาบัตรที่ พระครูสุนทรธรรมโกศล
๕ ธันวาคม ๒๕๑๐ รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีธรรมวงศาจารย์
๕ ธันวาคม ๒๕๒๑ รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชพิศาลสุธี
๕  ธันวาคม ๒๕๓๔ รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวราลังการ
๕ ธันวาคม ๒๕๓๙ รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมโสภณ

 

Credit : อ.อุทัย ไชยพันธ์

 
Visitor counter, Heat Map, Conversion tracking, Search Rank

วัดสุทธจินดา 774 ถ.ราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000

WEBMASTER:08-44-777-859 , 08-07-976-427